วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การเขียนโครงร่างการวิจัย (Proposal)

ภายหลังจากที่ได้หัวข้อหรือปัญหาการวิจัยคร่าว ๆ และได้ไปทำการทบทวนเอกสารหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพอสมควรแล้ว ให้เริ่มเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาก่อน ชื่อเรื่องยังไม่ต้องตั้งก็ได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการออกแบบการวิจัย (research design) เพื่อแสวงหาคำตอบในสิ่งที่เราสนใจ และทั้งหมดนี้ เรียกว่า “โครงร่างการวิจัย” ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนไปเป็นบทที่ 1, 2 และ 3 ของการวิจัยนั่นเอง ในการเขียนโครงร่างการวิจัยทางสังคมศาสตร์ อาจประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
1. ชื่อเรื่อง : ต้องชัดเจนไม่สั้นหรือยาวเกินไป เป็นเรื่องแปลกใหม่ น่าสนใจและมีคุณค่า รวมทั้งมีความสามารถที่จะทำการวิจัยได้
2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา : เป็นการบรรยายให้เห็นว่าเรื่องที่จะทำการวิจัยนี้มีความเป็นมาและมีความสำคัญอย่างไรจึงต้องทำการวิจัย มักจะเริ่มต้นการเขียนถึงสภาพแวดล้อมแบบกว้าง ๆ เข้ามาสู่เรื่องแคบ ๆ แล้วสรุปให้เห็นปัญหาการวิจัยจนทำให้ต้องทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้
3. วัตถุประสงค์ : เป็นการบอกจุดมุ่งหมายในการทำวิจัยเรื่องนี้ ศ.ดร.นงลักษณ์ วิรัชชัย บอกไว้ว่าการกำหนดวัตถุประสงค์อย่างแรกที่ใช้ คือ เพื่อบรรยาย ต่อมาก็ เพื่อสำรวจ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ทำได้ง่ายที่สุด สูงขึ้นมาก็คือ เพื่อเปรียบเทียบ สูงขึ้นมาอีกก็คือ เพื่ออธิบาย สูงขึ้นไปอีกก็คือ เพื่อทำนายว่าในอนาคตจะเกิดอย่างไร สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ เพื่อสังเคราะห์ผลการวิจัย ดีไปกว่านั้นก็คือ เพื่อประเมิน และอันสุดท้าย คือ เพื่อพัฒนาและตรวจสอบ เป็นวัตถุประสงค์ขั้นสูงสุดที่นักวิจัยอยากจะตั้งวัตถุประสงค์ให้ถึงขั้นนี้
4. สมมติฐานของการวิจัย : เป็นการคาดคะเนผลที่จะได้จากการพิสูจน์ โดยการแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ทดสอบหรือพิสูจน์ได้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการวิจัย ในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพจะไม่เขียนสมมติฐานการวิจัย
5. ขอบเขตการวิจัย : ประกอบด้วยขอบเขตด้านเนื้อหาจะศึกษาอะไรบ้าง และขอบเขตด้านระยะเวลาตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร เขียนตามวัตถุประสงค์ในการวิจัย
6. คำจำกัดความ : เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ปกติดูจากคำสำคัญ (key word) ของชื่อเรื่อง
7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : ประโยชน์ที่จะเกิดจากการนำผลการวิจัยไปใช้ต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการวิจัย
8. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : เป็นการทบทวนแนวคิดหรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นกรอบความคิดในงานวิจัยของเรา หากเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณจะให้ความสำคัญมากเพราะจะนำไปสู่การตั้งคำถามในแบบสอบถาม ส่วนการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นการทบทวนงานวิจัยที่ใกล้เคียงกับของเราซึ่งอาจใกล้เคียงในด้านความสำคัญของปัญหาการวิจัยหรือวิธีในการดำเนินการวิจัยก็ได้ การเขียนจะต้องเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ มีการสรุปในตอนท้ายของแต่ละตอนและให้เชื่อมโยงกับย่อหน้าต่อไปด้วย
9. วิธีดำเนินการวิจัย : กล่าวถึงวิธีการที่ใช้ในการวิจัย โดยปกติอาจแบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ชนิด คือ การวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ จะเลือกใช้วิธีการใดก็ตามขึ้นอยู่กับลักษณะของเรื่องที่จะทำการวิจัยและความถนัดหรือความสนใจของผู้วิจัยด้วย ในปัจจุบันวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกมักใช้ทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กันไป แต่ละรูปแบบมักจะกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการวิจัยดังต่อไปนี้
9.1 การวิจัยเชิงคุณภาพ : ให้ระบุถึง
1. การเข้าพื้นที่ทำอย่างไร กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant) คือใคร
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ เทปบันทึกเสียง การจดบันทึก ตัวผู้วิจัย
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ เอกสาร การสังเกตแบบมีส่วนร่วม/ไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบทางการ/ไม่เป็นทางการ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น
4. ระยะเวลาในการศึกษา เริ่มตั้งแต่การเข้าพื้นที่จนกระทั่งถอนตัว
5. การตรวจสอบข้อมูล ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (triangulation)
6. การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
9.2 การวิจัยเชิงปริมาณ : ให้ระบุถึง
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ วิธีการเลือก จำนวน
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม โดยระบุถึงวิธีการสร้างเครื่องมือ การตรวจสอบเครื่องมือ
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ วิธีการส่งแบบสอบถาม จำนวนที่ได้รับคืน
4. การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิจัยทางสังคมศาสตร์ไม่มีอะไรดีไปกว่า “การเขียน เขียน แล้วก็เขียน” และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ คือ รูปแบบการพิมพ์วิทยานิพนธ์หรือเอกสารวิจัย ซึ่งแต่ละสถาบันก็ไม่เหมือนกัน

หากต้องการคำแนะนำติดต่อผู้เขียนได้ตลอดเวลาที่ภาควิชาสังคมศาสตร์ กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศ โปรดอ่านต่อฉบับหน้าเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น