วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การวิจัยแบบผสม (Mixed Method)

วิทยานิพนธ์ทางการอุดมศึกษาที่ผ่านมามีทั้งระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ บางเล่มก็บอกว่าใช้ทั้งวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แต่ตนเองยังหาไม่เจอว่ามีวิทยานิพนธ์ทางการอุดมศึกษาของนิสิตนักศึกษาโดยเฉพาะระดับปริญญาเอกเล่มใด ที่บอกว่าใช้ระเบียบวิธีวิจัยหรือรูปแบบการวิจัยแบบผสม (Mixed Method) อาจเป็นเพราะรู้ว่าวิธีดำเนินการวิจัยยังไม่เข้าข่ายรูปแบบการวิจัยแบบผสม หรือเป็นเพราะยังไม่รู้จักว่าการวิจัยแบบผสมเป็นอย่างไร ? ตนเองเป็นแบบหลังคือ ยังไม่รู้จักดีว่า Mixed Method ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร คิดแต่ว่า ถ้าใช้ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพรวมกันในงานวิจัยเล่มเดียวกันแล้ว ก็เรียกว่าเป็น Mixed Method ได้ … จนกระทั่งได้มีโอกาสฟังการบรรยายพิเศษในรายวิชาของนิสิตปริญญาเอก วิชา วิธีวิทยาการวิจัยการศึกษา 2 ซึ่งอาจารย์ผู้สอนเชิญ รศ.ดร. โยธิน แสวงดี จาก ม. มหิดล ต้นตำรับและผู้เชี่ยวชาญในการทำ Mixed Method มาบรรยายให้ฟัง ~ 2 ชม. จึงเกิดความกระจ่างขึ้นบ้าง … ว่า Mixed Method นั้นเป็นเทคนิควิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์แบบผสม ผสมทั้งวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งรูปแบบที่นิยมทำทั้งไทยและต่างประเทศ คือ ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเป็นตัวตั้งก่อนแล้วตามด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ ยกเว้นกรณีที่เป็นอุบัติการณ์ หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงจะใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นตัวตั้งแล้วค่อยมาตรวจสอบสมมติฐานหรือทฤษฎีด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ความแตกต่างจากงานวิจัยทั่วไป คือ ในการวิจัยเชิงปริมาณต้องใช้สถิติขั้นสูงที่เรียกว่า Multi-level Analysis เพราะจะให้ภาพความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง ความเป็นเหตุเป็นผลของตัวแปรปัจจัยหลายๆ ตัวที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับของข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม และเมื่อวิเคราะห์ด้วยกระบวนการเชิงปริมาณเสร็จแล้วก็จะนำปัจจัยที่มีผลชัดเจนนั้นๆ (เลือกปัจจัยที่น่าศึกษาด้วยวิธีเชิงคุณภาพจริงๆ) เข้ามาศึกษาให้ลึกซึ้งด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพต่อไป ดังนั้น ถ้าเรื่องที่วิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Bivariate Analysis พวก Basic Statistics หรือ Univariate Analysis เช่น Descriptive Statistics แล้วมาทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพภายหลัง แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็น Mixed Method
จุดเน้นที่สำคัญยิ่ง คือ เป็นเทคนิควิธีที่เน้นการวิจัยระดับจุลภาคคือ ให้ความสำคัญกับ Unit of Analysis แบบ Individual เชื่อว่า Behavior = Individual Factors + Social Context จึง Focus : Social Context ไปสู่ Behavior
แหล่งที่มา : อาทิตยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น